ณัฏฐพล จี้ “สพฐ.-สอศ.” ปรับหลักสูตรรับตลาด เผยให้เวลาศึกษาข้อมูล 2 สัปดาห์

รมว.ศึกษาธิการ เผยเร่งให้ สพฐ. และ สอศ.ปรับหลักสูตรเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตลาด จี้ให้เวลาศึกษาข้อมูลประมาณ 2 สัปดาห์

วันที่ 11 กันยายน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเข้าพบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ว่า ตนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในประเด็นต่างๆ เช่น จากการลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institute of Technology: NIT) หรือ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น เพื่อจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็นขึ้น ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ มีประสิทธิภาพมาก และตนมั่นใจว่าถ้าศธ.ขยายผลได้ ทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ เพียงแต่ในการเริ่มต้นสัดส่วนการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็นอาจจะไม่ได้ใหญ่มากนั้น แต่จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นตรงกันว่าหาก สถาบันไทยโคเซ็นประสบความสำเร็จ น่าจะวางแผนงานเพื่อขยายผลเป็นวงกว้างมากขึ้น

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ได้หารือถึงแผนงานการลงทุนของญี่ปุ่น ซึ่งตนให้ความมั่นใจกับเอกอัครราชทูตว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน ศธ.มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดสรรทรัพยากรบุคคลที่จะต้องรองรับการเจริญเติบโตของตลาด และความต้องการของบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นด้วย โดยดูรายละเอียดลึกถึงประเภทธุรกิจ ความต้องการของตลาดแรงงาน และแนวทางความร่วมมือในการที่บริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นจะเข้ามาให้ความรู้เพื่อผสมผสานกับหลักสูตรที่ ศธ.มีอยู่ ดังนั้น ศธ.จะต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลักสูตรที่มีอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รวมถึงการส่งต่อข้อมูลไปยังระดับอุดมศึกษาด้วย

“เมื่อพูดถึงการปรับปรุงหลักสูตร ผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างรับนโยบายไปปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นและตรงกับความต้องการของตลาด นอกจากหลักสูตรแล้ว สถาบัน โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอน ต้องมีความคล่องตัวเพื่อสอดรับกับธุรกิจ และความต้องการของตลาดในพื้นที่ ที่โรงเรียนตั้งอยู่ด้วย เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาของเรามีโอกาสประกอบอาชีพตรงกับความต้องการของตลาด ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ของเราคือ ศธ.ยังไม่สร้างโอกาส และสร้างความยืดหยุ่นให้กับสถาบันการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอนมากนัก จึงเป็นหน้าที่ของ สพฐ.และ สอศ.ที่จะรับไปดูแล ปรับปรุง และรวบรวมข้อมูล เพื่อปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้น คาดว่าจะให้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หน่วยงานทั้ง 2 จะสามารถรวบรวมข้อมูลได้แล้วเสร็จ เพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์ถึงการพัฒนาโรงเรียน และหลักสูตรต่อไป เพราะจากการหารือร่วมกัน พบว่าต่อไปธุรกิจก่อสร้าง อุตสาหกรรมรถยนต์ และการโรงแรม จะขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วมากในประเทศไทย ดังนั้น ศธ.จะต้องเตรียมคนให้พร้อมเพื่อรองรับงานเหล่านี้” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเสริมทิ้งท้าย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มติชน ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2562