“เด็กสมาธิสั้น” อาการและวิธีการรักษา ที่ครูและผู้ปกครองควรรู้!!

พัฒนาการของเจ้าตัวเล็กบางครั้งอาจบ่งบอกความผิดปกติได้ ขอเพียงพ่อแม่ผู้ปกครองหมั่นสังเกตและอย่าปล่อยผ่านเมื่อเกิดความสงสัย โดยเฉพาะโรคสมาธิสั้น (ADHD-Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ที่จากผลสำรวจล่าสุดของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 พบว่า เด็กอายุ 6 – 15 ปีทั่วประเทศเป็นโรคนี้ถึงประมาณ 420,000 คน พบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 4 – 6 เท่า และในห้องเรียนที่มีจำนวนเด็กเฉลี่ย 40 – 50 คน พบเด็กที่เป็นโรคนี้แล้ว 2 – 3 คน ดังนั้นหากรู้เท่าทันและรักษาได้ทันท่วงทีย่อมช่วยให้อาการของเจ้าตัวเล็กดีขึ้นและเติบโตได้อย่างมีความสุข

รู้จักโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น (ADHD-Attention Deficit Hyperactivity Disorder) คือ ภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่ส่งผลให้มีสมาธิสั้นกว่าปกติ ขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้มีลักษณะอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่เคยอยู่นิ่ง เวลาที่พูดด้วยจะไม่ตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ขาดความรับผิดชอบ พบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 3 – 7 ปี แต่ในรายที่เป็นไม่มาก อาการจะแสดงออกชัดเจนกว่าในช่วงหลัง 7 ขวบขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่ต้องเข้าโรงเรียนมีงานและการบ้านต้องรับผิดชอบหลาย ๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคุณครู รวมไปถึงการที่จะต้องรู้จักปรับตัวในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นและการเข้าสังคม โดยสาเหตุแท้จริงนั้นไม่สามารถทราบได้ชัดเจน แต่หนึ่งในนั้นคือการที่สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและการยับยั้งชั่งใจทำงานน้อยกว่าปกติ

อาการเด็กสมาธิสั้น
การจะรู้ว่าเจ้าตัวเล็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ นอกจากต้องสังเกตจากลักษณะอาการที่ปรากฏแล้ว ยังจำเป็นจะต้องพิจารณาจากระยะเวลาที่เป็น และสถานที่ที่เด็กมีอาการ กล่าวคือ

1. อาจมี (A) หรือ (B)
(A) หากเด็กมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ต้องมี 6 ข้อ (หรือมากกว่า) ของอาการขาดสมาธิ ติดต่อกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยที่อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก ได้แก่ อาการขาดสมาธิ (Inattention) คือ

  • มักไม่สามารถจดจ่อกับรายละเอียดหรือไม่รอบคอบเวลาทำงานที่โรงเรียนหรือทำกิจกรรมอื่น
  • มักไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น
  • มักดูเหมือนไม่ได้ฟังสิ่งที่คนอื่นพูดกับตนอยู่
  • มักทำตามคำสั่งได้ไม่ครบ ทำให้ทำงานในห้องเรียน งานบ้าน หรืองานในที่ทำงานไม่เสร็จ (โดยไม่ใช่เพราะต่อต้าน หรือไม่เข้าใจ)
  • มักมีปัญหาในการจัดระบบงานหรือกิจกรรม ทำงานไม่เป็นระเบียบ
  • มักเลี่ยงไม่ชอบหรือไม่เต็มใจในการทำงานที่ต้องใช้ความคิด (เช่น การทำการบ้านหรือทำงานที่โรงเรียน)
  • มักทำของที่จำเป็นในการเรียนหรือการทำกิจกรรมหายบ่อยๆ (เช่น อุปกรณ์การเรียน)
  • มักวอกแวกไปสนใจสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย
  • มักหลงลืมทำกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำ

(B) ต้องมี 6 ข้อ (หรือมากกว่า) ของอาการอยู่ไม่นิ่ง-หุนหันพลันแล่น นานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน โดยที่อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก ได้แก่

  • อาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)
  • หยุกหยิก อยู่ไม่สุข ชอบขยับมือและเท้าไปมา หรือนั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้
  • มักลุกจากที่นั่งในห้องเรียนหรือในสถานการณ์อื่นที่เด็กจำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่
  • มักวิ่งไปมาหรือปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ ในที่ ๆ ไม่สมควรกระทำ
  • ไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมอย่างเงียบ ๆ ได้
  • มัก “พร้อมที่จะวิ่งไป” หรือทำเหมือนเครื่องยนต์ที่เดินเครื่องอยู่ตลอดเวลา
  • มักพูดมากพูดไม่หยุด
  • อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
  • มักโพล่งคำตอบโดยที่ฟังคำถามไม่จบ
  • มักไม่ชอบการเข้าคิวหรือการรอคอย
  • มักขัดจังหวะหรือสอดแทรกผู้อื่น (ระหว่างการสนทนาหรือการเล่น)

2. เริ่มพบอาการเหล่านี้ตั้งแต่ก่อนอายุ 7 ขวบ
3. พบความบกพร่องที่เกิดจากอาการเหล่านี้ในสถานการณ์อย่างน้อย 2 แห่ง เช่น ที่บ้านหรือที่โรงเรียน
4. อาการต้องมีความรุนแรงจนกระทั่งรบกวนการเรียน การเข้าสังคม หรือการทำงานอย่างชัดเจน
5. อาการไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็น Pervasive Developmental Disorder, Schizophrenia, Psychotic Disorder และอาการต้องไม่เข้าได้กับอาการของโรคทางจิตเวชอื่น ๆ (เช่น Mood Disorder, Anxiety Disorder, Dissociative Disorder หรือ Personality Disorder)

สัญญาณเตือนรีบรักษา
หากเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น มีเพียง 15 – 20% เท่านั้นที่สามารถหายได้เองเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่อีกประมาณ 60% นั้นไม่หายขาดและจะเป็นโรคนี้ไปจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นการสังเกตและรู้เท่าทันสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาที่ต้องเข้ารับการรักษาคือสิ่งสำคัญ ได้แก่

  • ผลการเรียนตกต่ำลง ถ้ามีอาการมากมักพบได้ตั้งแต่ในช่วงที่เด็กเรียน ป.1-ป.2และผลการเรียนจะยิ่งตกมากขึ้นในช่วง ป.4 แต่ในกรณีที่เด็กมีไอคิว (IQ – Intelligence Quotient) ความสามารถทางเชาวน์ปัญญาสูง อาจไม่ส่งผลกระทบต่อผลการเรียนมากเท่าไรนักและอาจเริ่มสังเกตเห็นอาการในช่วงมัธยม แต่ในเด็กที่เป็นทั้งโรคสมาธิสั้นและโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD – Learning Disorder) ควบคู่กัน จะส่งผลต่อผลการเรียนค่อนข้างมากคือ คะแนนคาบเส้นหรือหวุดหวิดเกือบสอบตก
  • คุณครูมีการรายงานพฤติกรรมความผิดปกติของเด็กกับพ่อแม่ผู้ปกครอง
  • พ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มสงสัยและเห็นความผิดปกติของเด็กชัดเจนมากขึ้น
  • เด็กหรือเพื่อนที่เด็กเล่นด้วยมีอาการบาดเจ็บ เนื่องจากเล่นรุนแรงและผาดโผนมากเกินไป
  • เด็กเริ่มแยกตัวออกจากกลุ่ม อยู่โดดเดี่ยวคนเดียว ไม่ชอบสื่อสารและเข้าสังคม (ถูกเพื่อนปฏิเสธหรือรังแก)

วิธีรักษาแก้โรค
ปัจจุบันวิธีรักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactive Disorder) มี 4 วิธี ได้แก่

  1. ปรับพฤติกรรมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ซึ่งจะได้ผลดีมากในเด็กที่ยังเป็นไม่มากและยอมเต็มใจที่จะเข้ารับการฝึกเพื่อให้อยู่นิ่ง
  2. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยแพทย์จะเลือกชนิดยาที่เหมาะกับอาการและวัยของเด็ก เช่น Methylphenidate ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้หลั่งสารสื่อประสาทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการรับประทานทานยานั้นให้ผลในการรักษาที่ดีได้ถึง 70 – 80% โดยประมาณ และเด็กจะมีอาการดีขึ้นหลังจากรับประทานยาไปแล้วภายใน 1 – 4 สัปดาห์
  3. เรียนแบบตัวต่อตัว เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ร่วมด้วยนั้นจะเรียนไม่ทันเพื่อน พ่อแม่ผู้ปกครองควรหาวิธีพัฒนาการเรียนของเด็กอย่างเหมาะสม
  4. ปรึกษาแพทย์ต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจและขอคำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง การสื่อสารกันระหว่างแพทย์ ครู และผู้ปกครอง เพื่อลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กที่อาจเกิดขึ้นได้

ไฮเปอร์กับสมาธิสั้นต่างกัน
เด็กที่เป็นไฮเปอร์ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคสมาธิสั้นเสมอไป เพราะไฮเปอร์คืออาการที่ไม่อยู่นิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ โรคสมาธิสั้น (ADHD-Attention Deficit Hyperactive Disorder) เป็นเพียงสาเหตุอันหนึ่ง ยังไม่รวมถึงเด็กมีไอคิวสูงปัญญาเลิศ (Gifted Child ) เด็กที่มีความวิตกกังวัล (Anxiety) เด็กที่มีพัฒนาการทางระบบประสาทล่าช้า (Motor – Sensory) เด็กที่เคยได้รับความกระทบกระเทือนหรือติดเชื้อที่สมอง และเด็กที่ไฮเปอร์โดยธรรมชาติ แต่เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักเกิดจากความผิดปกติของสมอง และสิ่งที่น่าสนใจคือ โรคสมาธิสั้นสามารถเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมได้ หากพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้ลูกก็มีโอกาสเป็นได้ถึง 50% และอาจเกิดขึ้นได้ขณะที่มารดาตั้งครรภ์

เลี่ยงเล่นสมาร์ทโฟนแท็บเล็ต
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเจ้าตัวเล็กเติบโตท่ามกลางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่เรียกได้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีไว้ให้เจ้าตัวเล็กได้เล่น เนื่องจากทำงานหนักและไม่ค่อยมีเวลาในการเลี้ยงดู ซึ่งความจริงแล้วหากไม่เล่นได้จะดีที่สุด เพราะสมาร์ทโฟนมีส่วนกระตุ้นให้เด็กที่เป็นเป็นสมาธิสั้นมากมีอาการขึ้น เนื่องจากเมื่อเล่นไปนาน ๆ อาจส่งผลให้เด็กขาดสมาธิและการควบคุมตนเอง อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น และหากเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ก่อนแล้วอาการจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ ใจร้อน วู่วาม อารมณ์ฉุนเฉียว ขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่รู้จักการรอคอย เป็นต้น

นอกจากนี้การเล่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานานยังส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติทางสายตา พูดช้า บุคลิกภาพไม่ดี ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรมองหากิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเด็กและสร้างความอบอุ่นภายในครอบครัว ได้แก่ การเล่นกีฬา เช่น กอล์ฟ ฟุตบอล ว่ายน้ำ เป็นต้น หรือการเล่นดนตรี เช่น เปียโน เป็นต้น สำหรับช่วงอายุที่เด็กสามารถใช้งานสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้นั้น ดีที่สุดคือที่ช่วงอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ต้องควบคุมระยะเวลาในการใช้งานคือ ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อจะได้ไม่ส่งผลเสียต่อพัฒนาการการเรียนรู้และการเข้าสังคม

หากเกิดความสงสัยว่าเด็กมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพราะการรักษาโรคนี้ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือทั้งจากตัวเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง และคุณครูผู้สอน ซึ่งต้องใช้หลายศาสตร์ร่วมกันเพื่อผลการรักษาที่ดี ที่สำคัญหากเด็กเข้ารับการรักษาจนหายขาดจากโรค นอกจากจะสมาธิดีขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น เด็กยังเกิดความภาคภูมิใจในตนเองและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ในอนาคต

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.bangkokhospital.com